อยู่ห่างจากพระธาตุพนม 15 กม. และห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางใต้ 51 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 212 ถึงประมาณกม.ที่ 44 เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2031 อีกประมาณ 7 กม. ทางลาดยางตลอด เรณูนครเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวผู้ไทย ซึ่งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี อาทิ ธรรมเนียมการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การชวนดูดอุ การฟ้อนรำผู้ไทย
นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกต่างๆไว้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงอีกมากมาย โดยเฉพาะบริเวณวัดพระธาตุ เรณูนคร และตลาดอำเภอเรณูนคร การฟ้อนผู้ไทยนับเป็นการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมแบบพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไทยที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน จากบรรพบุรุษของชาวเผ่าผู้ไทย ในสมัยก่อนเรียกการฟ้อนรำแบบนี้ว่า "ฟ้อนละครไทย" เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน โดยการจับกลุ่มเล่นฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานในงานเทศกาลเดือนห้าและเดือนหก ซึ่งจะมีประเพณี บุญบ้องไฟและมีการเฉลิมฉลองเพื่อนมัสการองค์พระธาตุเรณู ในการฟ้อนรำสมัยก่อนนั้น เป็นการฟ้อนรำตามความถนัดและความสามารถ ความชำนาญของแต่ละบุคคล ไม่ได้เน้นความเป็นระเบียบหรือความพร้อมเพรียงกัน แต่เน้นลีลาท่าฟ้อนรำต่างๆ ที่แสดงออกมา ส่วนมากเป็นผู้ชายล้วนๆ จับกลุ่มฟ้อนรำกันเพื่ออวดสาวๆ ปัจจุบันเป็นการฟ้อนรำของหญิงชายคู่กัน โดยยึดการรำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก นับเป็นศิลปะที่สวยงามละเอียดอ่อนหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
การฟ้อนผู้ไทยและการเลี้ยงอาหารแบบพาแลงนี้ สามารถติดต่อสอบถามขอทราบรายละเอียดได้ที่
- ส่วนราชการต่างๆ ภายในที่ว่าการอำเภอเรณูนครโทร. (042) 579021
- ชมรมชาวผู้ไทยเรณูนคร โดยคุณชัยบดินทร์ สาลีพันธ์ โทร. (042) 579174
- วัดพระธาตุเรณูนคร และ โรงเรียนต่างๆ ในอำเภอเรณูนคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น